ผลิตภัณฑ์สุดล้มเหลวของบริษัทยักษ์ใหญ่

ผลิตภัณฑ์สุดล้มเหลวของบริษัทยักษ์ใหญ่

หากพูดถึงชื่อบริษัทยักษ์ใหญ่ในยุคดิจิตอลทุกคนทราบดีว่าพวกเขาได้รับเม็ดเงินมหาศาล มูลค่าทางธุรกิจสูงติดอันดับต้น ๆ ของโลกแทบทุกรายนาม ไม่ว่าจะเป็น Amazon, twitter, facebook และอื่น ๆ อีกมากมาย พวกเขาประสบความสำเร็จในการดำเนินธุรกิจอย่างตรงเป้าหมาย มีวิสัยทัศน์ที่เฉียบแหลม แต่ใครจะรู้ว่าจริง ๆ แล้วพวกเขาไม่ได้ประสบความสำเร็จกับทุกอย่างที่ทำ ผลิตภัณฑ์ที่แป็กและขาดทุนก็มีเหมือนกัน ดังนั้นวันนี้เราจะพาย้อนไปดูสินค้าสุดล้มเหลวที่บริษัทยักษ์ใหญ่เหล่านี้ไม่อยากจดจำ

                Twitter Peek สื่อสังคมออนไลน์ชื่อดังอย่างทวิตเตอร์ครั้งหนึ่งเคยชิมลางทำมือถือขายกับเขาด้วย Twitter Peek เปิดตัวในปี 2009 ด้วยรูปลักษณ์หน้าตาตามสมัยนิยมซึ่งในยุคนั้น Black Berry ครองความเป็นเจ้าตลาดอยู่ ใจจริงของทวิตเตอร์คืออยากแย่งส่วนแบ่งการตลาด BBM (Black Berry Messenger) ให้มาอยู่ในมือตัวเอง ทวิตเตอร์ พีคจึงเป็นมือถือที่จำกัดการใช้งานให้ใช้ได้เฉพาะทวิตเตอร์เท่านั้นกล่าวคือถ้าจะแชทพูดคุยกันก็ต้องมีแอคเคาท์ทวิตเตอร์นั่นเอง แถมเล่นเฟซบุ๊กและโปรแกรมอื่น ๆ ไม่ได้เลย ทว่าหน้าตาโปรแกรมแชทของทวิตเตอร์นี้ดันแป้กสนิทเพราะมันสามารถดูข้อความได้จำกัดแค่ 20 ตัวอักษรบนหน้าพรีวิวผลตอบรับจึงเอวังไปตามความสามารถของมันนั่นเอง

                Amazon’s Fire Phone ผู้จำหน่ายสินค้าออนไลน์อันดับหนึ่งของโลกอย่าง Amazon เองก็ผลิตสินค้าต่าง ๆ ภายใต้ชื่อของพวกเขาอย่างมากมายทั้งลำโพงไร้สาย แท็บเล็ต หูฟัง และผลิตภัณฑ์อื่น ๆ อีกมากมายซึ่งล้วนแล้วแต่มีคุณภาพไม่แพ้สินค้าอิเล็กทรอนิกส์เจ้าใดในตลาด แต่กับสมาร์ทโฟนต้องบอกเลยว่าอเมซอนยังไม่เคยประสบความสำเร็จกับมันจริง ๆ จัง ๆ เลย และ Amazon’s Fire Phone ที่ถูกวางจำหน่ายในปี 2014 ก็เป็นตัวตอกย้ำได้เป็นอย่างดีว่าพวกเขาควรกลับไปศึกษาให้ดีก่อนตัดสินใจผลิตสมาร์ทโฟนเข้ามาสู้ในตลาดอีกครั้ง Amazon’s Fire Phone คุณสมบัติก็ไม่ได้ขี้ริ้วขี้เหร่เท่าใดนักในยุคนั้นมือถือหน้าจอ 4.7 นิ้ว CPU Quad-Core Snapdragon 800 ความเร็ว 2.2 GHz, RAM 2 GB, ROM 32 GB กล้องถ่ายรูปความละเอียด 13 ล้านพิกเซล แถมรองรับ 4G LTE เรียกว่าน่าสนใจทีเดียวและหลายคนอยากได้มันแน่นอน เว้นเสียก็แต่เมื่อเปิดตัวออกมาค่าตัวของมันพุ่งขึ้นไปเกือบ 650 เหรียญสหรัฐ นั่นทำเอาหลายคนตัดใจซื้อไม่ลงและกลายเป็นแรร์ไอเท็มในเวลานี้นั่นเอง

                Google+ สงครามสื่อสังคมออนไลน์นั้นดุเดือดมาก ไม่ว่าใครจับมวลชนไว้อยู่กับตัวได้ก็แทบการันตีว่าผลกำไรเป็นที่ประจักษ์แน่นอน ทั้งค่าโฆษณา การซื้อขายสินค้า และการบริการ ถ้ามีคนรับรู้ผ่านหูผ่านตามากเท่าไรก็มีสิทธิ์ขายสินค้าได้มากเกินคณานับ นั่นจึงเป็นเหตุผลให้สื่อสังคมออนไลน์ผุดขึ้นเป็นดอกเห็ด ไม่เว้นแม้แต่กูเกิ้ลที่อยากแบ่งเค้กก้อนนี้กับเขาด้วย Google+ เปิดตัวเมื่อปี 2011 และปิดตัวไปเมื่อวันที่ 2 เมษายน 2019 ที่ผ่านมานี่เอง หลังประสบปัญหาขาดทุนอย่างหนัก Userผู้ใช้งานจริงมีน้อย ทั้งยังเต็มไปด้วยการแฝงหาผลประโยชน์จากธุรกิจสีเทาต่าง ๆ อีกด้วย

                นี่คือสินค้าและบริการที่เหล่าบริษัทชั้นนำต่างไม่อยากจดจำว่าครั้งหนึ่งพวกเขาเคยสร้างอะไรแบบนี้ออกมา แต่การไม่ตอบโจทย์ของมันในเวลานั้น ๆ ไม่ได้หมายความว่าพวกเขาไม่ควรทำขึ้นมา พวกเขาอาจได้เรียนรู้จากความผิดพลาดที่ใหญ่หลวงนี้และหากจะมีผลิตภัณฑ์ใด ๆ ออกมาในอนาคตเราก็เชื่อว่ามันจะดีกว่าเดิมอย่างแน่นอน ทั้งนี้คงต้องเอาใจช่วยให้พวกเขาประสบความสำเร็จกับโปรเจกต์ใหม่ ๆ ที่กำลังคิดค้น เพราะผู้บริโภคอย่างเราก็จะพลอยได้รับประโยชน์ไปด้วยนั่นเอง

Bessie Jackson