Google สุดทนตะเพิดแอปฯสอดไส้พ้น Playstore

Google สุดทนตะเพิดแอปฯสอดไส้พ้น Playstore

แอปพลิเคชันคือโปรแกรมใช้งานที่ถูกพัฒนาโดยนักพัฒนาหรือบริษัทต่าง ๆ ทั้งน้อยและใหญ่ ผู้พัฒนาเหล่านี้ดำเนินธุรกิจของพวกเขาด้วยรายได้จากค่าโฆษณาหรือจำหน่ายตัวแอปฯรวมทั้งไอเทมต่าง ๆ เพื่อปลดล็อกคุณสมบัติ บางแอปพลิเคชันก็แจกฟรีแบบไม่มีเงื่อนไข ในขณะที่แอปพลิเคชันบางจำพวกทำตัวเหมือนแอปฯกลุ่มแจกฟรีแต่กลับสอดไส้ใส่สคริปต์ควบคุมการทำงานบางอย่าง ทำให้โทรศัพท์ของผู้ใช้ทำงานหนักขึ้น ถูกล้วงข้อมูล รวมถึงแอบโหลดแอปฯในเครือของผู้พัฒนาเหล่านั้นลงเครื่องโดยผู้ใช้ไม่รู้ตัวอีกด้วย

Google หนึ่งในผู้ให้บริการระดับโลกไม่ทนกับพฤติกรรมดังกล่าวจึงมีการตรวจสอบและนำแอปฯกลุ่มเสี่ยงเหล่านี้ออกจากระบบ Playstore ของพวกเขาเรื่อย ๆ ล่าสุดจัดการกับกลุ่มแอปพลิเคชันชื่อดังจาก “DU Group” ผู้พัฒนาจากประเทศจีนแล้วอีกหนึ่ง ภายใต้ชื่อ DU Group สำหรับคนที่ใช้งานคอมพิวเตอร์อย่างชำนาญล้วนรู้จักเป็นอย่างดี เพราะมีโปรแกรมคอมพิวเตอร์มากมายภายใต้ชื่อนี้เคยสร้างความปวดเศียรเวียนเกล้ามานักต่อนัก ยิ่งสำหรับช่างซ่อมคอมพิวเตอร์แล้วขึ้นชื่อนี้มาแทบไม่ต้องคิดแก้ไขอะไรนอกจากติดตั้งวินโดว์ใหม่เท่านั้น สำหรับผู้ใช้งานทั่วไปที่ใช้งานคอมพิวเตอร์ไม่ได้เก่งมากชื่อของ Baidu พวกเขาก็รู้จักเป็นอย่างดีเช่นกัน ซึ่งทีมพัฒนา DU Group ที่ว่าก็มาจาก Baidu นี่เอง

ทีมตรวจสอบของกูเกิลพบว่าแอปพลิเคชันต่าง ๆ จาก DU Group มีการเสริมโค้ดซ่อนเอาไว้เพื่อให้มันทำงานอยู่เบื้องหลังโดยที่ผู้ใช้ไม่รับทราบและยินยอม โดยตัวแอปฯจะทำการกดดูโฆษณาจาก Google AdMob และ Twitter MoPub อยู่เรื่อย ๆ ด้วยตัวมันเองแม้ผู้ใช้งานจะไม่ได้เปิดใช้งานแอปพลิเคชันเลยก็ตาม ซึ่งการสอดไส้โค้ดอันไม่พึงประสงค์นี้มันสร้างภาระให้สมาร์ทโฟนอย่างมหาศาลทั้งยังส่งผลให้เครื่องทำงานช้า ผลาญแบตเตอรี่ เครื่องร้อนตลอดเวลา และสูบความเร็วอินเทอร์เน็ตจนหมด ซึ่งลักษณะการสร้างผลกระทบแทบไม่ต่างจากไวรัสหรือมัลแวร์เลย เมื่อทราบความผิดปกติอย่างชัดแจ้งทางกูเกิลไม่รอช้าสั่งทีมงานถอดถอนแอปพลิเคชันเหล่านี้ออกจาก Google Playstore ในทันที ซึ่งแอปฯดังกล่าวก็ได้แก่ Omni Cleaner, RAM Master, Smart Cooler, Total Cleaner และ AIO Flashlight แอปพลิเคชันเหล่านี้ผู้สันทัดกรณีกล่าวว่านอกจากจะไม่สามารถใช้งานได้จริงแล้วยังเป็นอันตรายต่อสมาร์ทโฟนด้วย เช่นแอปฯล้างหน่วยความจำของเครื่องอาจจะแสดงข้อมูลเป็นตัวเลขหลอก ๆ เท่านั้นแต่ไม่ได้ทำงานจริงเป็นต้น

ผู้สันทัดกรณียังชี้แนะให้ผู้ใช้สังเกตแอปพลิเคชันกลุ่มเสี่ยงเหล่านี้ง่าย ๆ คือส่วนใหญ่มักจะเป็นแอปฯประเภททำงานไม่ซับซ้อน อย่างไฟฉาย ล้างหน่วยความจำ หรืออวดอ้างว่าเพิ่มสปีดได้ด้วยคลิกเดียวเป็นต้น แอปฯต้องสงสัยเหล่านี้จะเป็นจำพวกที่หาโค้ดโปรแกรมสำเร็จได้ไม่ยาก ลงทุนน้อย เมื่อถูกผู้ตรวจสอบจับได้และถอดถอนพวกเขาจะเสียหายไม่มากรวมทั้งได้รับประโยชน์ไปจนคุ้มค่าแล้ว จึงทำให้แอปพลิเคชันเหล่านี้แม้ถูกนำออกไปบางส่วนก็ยังผุดขึ้นมาเรื่อย ๆ ไม่เคยหายไปจากระบบเลย ดังนั้นทางที่ดีที่สุดในการป้องกันตัวคือผู้ใช้งานควรหมั่นตรวจสอบแอปพลิเคชันในเครื่องอยู่เสมอว่ามีการทำงานมากผิดปกติหรือไม่? อยู่ดี ๆ เครื่องร้อนหรือดับไปเองหรือเปล่า? และควรถอนการติดตั้งแอปฯที่สงสัยว่าจะเป็นอันตรายออกจากเครื่องอยู่เสมอด้วย

Bessie Jackson